เตรียมตัวสร้างบ้าน ต้องเตรียมงบประมาณอะไรบ้าง ?

การเตรียมตัวสร้างบ้านใหม่สิ่งแรกที่เราจะต้องมาคำนึงถึงคือ งบประมาณ แน่นอนว่าในการสร้างบ้านแต่ละหลังต้องใช้งบประมาณไม่ใช่น้อยเลยที่เดียว แน่นอนว่าก่อนอื่นท่านจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เงินจะพอไหม สร้างบ้านควรจะเป็นราคาเท่าไรแน่ วันนี้เรามีหลักการมานำเสนอว่าในการที่จะสร้างบ้านแต่ละหลังต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

1. งบประมาณในการรื้อถอนบ้าน กรณีมีบ้านเก่าตั้งอยู่

ในการรื้อถอนบ้านเก่า ก่อนอื่นเราจะต้องเรียกพวกรับรื้อถอนมาตีราคาหลายๆ รายเพื่อเปรียบเทียบราคา ท่านจะพบว่าราคาแต่ละเจ้าต่างกันพอสมควร และที่สำคัญวัสดุภายในบ้านที่ทำการรื้อถอนนั้นสามารถที่จะมาแปลสภาพให้กลายเป็นเงินได้โดยอาจจะเป็นข้อตกลงระหว่างเรากับผู้รับเหมารื้อถอนว่าจะให้หักกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน แต่ก่อนที่เราจะตกลงจ้างในการรื้อถอนเราควรที่จะคุยถึงรายละเอียดว่ามีเนื้องานที่มีให้ทำเท่าไร มาตรการป้องกันความเดือดร้อนรำคาญสำหรับ บ้านข้างเคียงเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบกรณีทำให้ข้างบ้านเสียหาย เป็นต้น และต้องระวังผู้รับเหมารื้อถอนที่เสนองานในราคาถูกๆ เพราะเวลาทำงานจริง ปรากฏว่าไม่มีทั้งความรับผิดชอบ และความเรียบร้อย งานทำไม่เสร็จ เช่น ไม่ขุดฐานรากบ้านเก่าทิ้ง เอาดินกลบไว้ก็มี ดังนั้นเราควรที่จะตกลงกับผู้รับเหมาให้ดีก่อนจ้างมารื้อถอน

2. งบประมาณในการถมดิน ถ้าจำเป็นต้องถม

ในการเปรียบเทียบราคาค่าถมดิน ขั้นแรกเราจะต้องพิจารณาว่าจ้างผู้รับเหมาถมดินเท่าที่เห็น มีสองแบบคือแบบเหมาจ่าย และแบบตกลงกันเป็นคิวหรือเป็นคันรถ ในการว่าจ้างทั้งสองวิธีนี้ ขอแนะนำว่าการว่าจ้างแบบเหมาจ่ายเป็นวิธีที่สะดวกและเหมาะสมที่สุด เพราะเราจะตรวจสอบงานได้ง่ายและค่าใช้จ่ายจะไม่บานปลาย สำหรับดินที่เหมาะที่จะนำมาใช้ถม ควรจะเป็นดินที่มาจากท้องนา ในกรณีที่ดินที่จะถม มีบ่อหรือหลุมลึก ควรใช้ทรายถมลงไปด้วย เพื่อป้องกันการทรุดตัว เพราะเนื้อทรายละเอียดกว่า ระดับที่จะถมตกลงให้ชัดเจน โดยอาจจะทำเครื่องหมายไว้ที่ที่ดินของเรา และควรที่จะมีการบดอัดทับไปด้วยเพื่อความแน่นของดินและป้องกันการทรุดตัวในวันข้างหน้า ในการถมดินควรหลีกเลี่ยงการถมดินหน้าฝน เพราะช่วงหน้าฝนจะทำงานลำบาก และหาดินที่มาถมยาก และไม่สามารถบดอัดดินให้แน่นได้

3. งบประมาณในการสร้างบ้าน

ในการสร้างบ้านนั้นก่อนอื่นเราต้องบอกว่า เราสามารถทำได้หลายกรณีและมีหลายทางเลือกดังต่อไปนี้ จ้างบริษัทรับสร้างบ้าน จ้างสถาปนิกออกแบบก่อนแล้วหาผู้รับเหมามาประมูลสร้างบ้าน จ้างผู้รับเหมา ให้ผู้รับเหมาไปหาสถาปนิกมาออกแบบให้ จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านว่าจ้างมาช่วยดูแลการว่าจ้างให้กับท่าน สำหรับวิธีการตั้งงบประมาณก่อสร้าง เพื่อการวางแผนทางด้านการเงิน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ทำได้ดังนี้

กรณีเลือกแบบบ้านมาตรฐานท่านจะทราบว่างบประมาณที่จะใช้สร้างบ้านจากราคาที่บริษัทเสนอมาได้เลย แต่ท่านต้องตรวจสอบรายการวัสดุก่อสร้างทุกรายการที่ได้รับการเสนอมา ว่าละเอียดพอหรือไม่ให้ระวังเสปคที่เขียนไว้กว้างๆ ตรวจสอบวัสดุทุกรายการ ดูวัสดุที่ใช้ตกแต่งเราควรที่จะเลือกขอดูของจริงว่าพอใจหรือไม่ หรือจะต้องเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะหากเปลี่ยนแปลงภายหลัง ท่านต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอย่างแน่นอน

กรณีออกแบบบ้านใหม่ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างสถาปนิกให้ออกแบบบ้านให้ หรือ ให้บริษัทรับสร้างบ้านออกแบบก็ตาม ก่อนลงมือออกแบบท่านก็คงอยากจะรู้ว่าบ้านหลังที่จะออกแบบนั้น จะใช้เงินค่าก่อสร้างสักเท่าไรถ้าท่านได้พูดคุยกับสถาปนิก สถาปนิกอาจให้คำแนะนำกับท่าน ในเรื่องงบประมาณที่จะสร้างบ้าน

4. งบประมาณในการทำรั้ว กรณียังไม่มีรั้ว

งบประมาณในการทำรั้วในการทำรั้วนั้นองค์ประกอบของรั้วนั้นมีหลายอย่างมาก เช่น เสาเข็ม เหล็กเสริมคอนกรีต สเตย์หรือตัวรั้งรั้วไม่ให้เอียง อิฐก่อผนังรั้ว อิฐที่ใช้ในการทำรั้ว ใช้อิฐบล๊อค อิฐมอญ หรือ อิฐ การฉาบรั้ว รั้วนั้นมีการฉาบทั้งแผง หรือ แค่ทำการไล้ปูนแล้วเซาะร่อง ทับหลังที่อยู่ด้านบนของรั้ว บัวปูนตกแต่งรั้ว วัสดุตกแต่งรั้วอื่นๆ เช่น ไม้ แสตนเลส เหล็ก กรุหิน กรุกระเบื้อง ความสูงของรั้ว สีที่ใช้ทารั้ว สำหรับการตีราคา ส่วนใหญ่ช่างจะตีราคาต่อเมตร หลักการและวิธีการง่ายๆ ในการเตรียมงบประมาณสำหรับทำรั้วคือ สอบถามช่างหลายๆคนว่าเขาคิดราคาเมตรละเท่าไร เอามาเปรียบเทียบกันเพื่อให้ได้ราคาและงานที่มีคุณภาพ

5. งบประมาณในการ ขอมิเตอร์น้ำ ไฟฟ้า

ในการสร้างบ้านยังมีงบประมาณอื่นๆที่จำเป็น ได้แก่ งบประมาณในการขอมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา พวกปั๊มน้ำ แท้งค์น้ำ ดวงโคม และ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งถือว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญอย่างมาก หากตกลงราคากับผู้รับสร้างบ้านเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่มักจะไม่มีปัญหาบานปลายในเรื่องงบประมาณ ดังนั้นเราควรที่จะคำนึงถึงงบประมาณสิ่งนี้ด้วย

6. สำรองไว้ เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว

งบประมาณสำรองไว้เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว การสร้างบ้านนั้น หากตกลงราคากับผู้รับสร้างบ้านเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่มักจะไม่มีปัญหาบานปลายในเรื่องงบประมาณ บางครั้งอาจไปเห็นวัสดุที่ต้องตาต้องใจขึ้นมา เกิดอยากจะได้และซื้อเพิ่มทำให้งบบานปลาย จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพอใจและงบประมาณของแต่ละคน
วัสดุก่อสร้างที่เจ้าของบ้านชอบเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ตามความชอบของแต่ละ คน คือ หลังคา วัสดุปูผิวพื้น วัสดุปูผิวผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น การเตรียมเงินสำรองในส่วนนี้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละคน

จะเห็นได้ว่าในการเตรียมงบประมาณในการสร้างบ้านแต่ละหลังไม่ไช่เรื่องง่ายมากนัก เราควรที่จะมาคำนึงถึงงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ผู้รับเหมา และความเหมาะสมและคุ้มค่า ดังนั้นในการที่จะสร้างบ้านแต่ละหลังต้องนึกถึงงบประมาณเป็นหลัก