Boutique Hostel: มูลค่าอสังหาฯ จากราคาแห่ง ‘เรื่องราว’

ท่ามกลางกระแสความนิยมในด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข้อแนะนำในการปรับปรุงสินทรัพย์เพื่อต่อยอดเป็นผลกำไรอยู่มากมาย บ้างก็ปล่อยเช่าสำหรับการอยู่อาศัย บ้างก็แบ่งซอยย่อยเพื่อการพาณิชย์ หรือบางครั้ง ก็ปล่อยที่ดินเปล่าสำหรับการเกษตร ก็จัดได้ว่าเป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ในด้านความยืดหยุ่นที่น่าสนใจ

และจากความหลากหลายดังที่กล่าวมา กระแสของการเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็น ‘Boutique Hostel’ หรือสถานพักแรมขนาดย่อมมากด้วยดีไซน์นั้น ก็เริ่มทวีความน่าสนใจ และได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งในแนวทางดังกล่าวนี้เอง ที่จัดได้ว่ามีแง่มุมที่ชวนให้ขบคิดและพิจารณาสำหรับผู้ที่กำลังมองหาช่องทางพัฒนาสินทรัพย์อสังหาฯ อยู่ไม่น้อย

//นิยามของ Boutique Hostel

แม้ไม่ได้มีการกำหนดเป็นที่ชัดเจนว่าลักษณะแบบใด จึงจะถือว่าเป็น Boutique Hostel แต่ก็พอจะมีสิ่งที่เป็นจุดร่วมให้เห็นอยู่ได้อย่างสังเขปดังต่อไปนี้

-มีลักษณะที่ไม่ใหญ่มาก จำนวนที่พักไม่เกิน 150 ยูนิต

-เน้นความโดดเด่นทางด้านการออกแบบและงานตกแต่งเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแบบอินดัสเตรียลที่ดูแมนๆ หรือแบบวินเทจที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน

-สาธารณูปโภคบางอย่างเป็นลักษณะของการใช้ร่วมกัน (Share Commodity) เช่น ห้องอาบน้ำ ครัวกลาง จนถึงห้องพักแบบเตียงคู่สองชั้น

-จับกลุ่มเป้าหมายแบบ Backpacker และวัยทำงานตอนต้นอายุ 20 กลางๆ จนถึง 30 ปลายๆ ที่อาจจะไม่ได้มีกำลังจับจ่ายมากเท่าใด

และเมื่อพิจารณาจากกระแสการท่องเที่ยวแบบ Lonely Planet แบกเป้ตะลุยโลกที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่แนวทางของ Boutique Hostel จะเริ่มได้รับความนิยมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการมากขึ้นตามลำดับ

//จุดเด่นของการสร้าง Boutique Hostel

ด้วยลักษณะของ Boutique Hostel ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า สามารถกลายเป็นข้อได้เปรียบทางด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยขนาดที่ไม่จำเป็นต้องใหญ่มากก็ดี จนถึงการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายสำหรับการต่อเติมลงไปได้มาก รวมถึงสามารถก่อตั้งได้แม้จะมีพื้นที่ที่จำกัด (เช่น ตึกแถว อาคารพาณิชย์) แต่กระนั้น จุดเด่นด้านการออกแบบและตกแต่งภายในของ Boutique Hostel นั้นคือหัวใจสำคัญที่ผู้ปรับปรุงต้องให้ความใส่ใจ ซึ่งในแง่หนึ่ง มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดูยุ่งยาก เพราะสไตล์ในแต่ละแบบก็มีจับเจ้าถึงกลุ่มเป้าหมายและความชื่นชอบที่ไม่เหมือนกัน แต่ในอีกทางหนึ่ง มันก็ง่ายเพราะเป็นลักษณะของการปรับปรุงระดับเบา ใช้เพียงวัสดุ สิ่งของประดับ หรือการจัดการ Façade หรือพื้นผิวภายใน โดยไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้างหรืองานระบบของอาคาร

//ข้อพึงระวังในแนวทางแบบ Boutique Hostel

อย่างไรก็ดี การสร้าง Boutique Hostel นั้น เนื่องจากมันไม่ได้อิงอยู่กับลักษณะการตลาดของการโรงแรมในแบบปกติ (แม้จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการสถานพักแรมก็ตาม) ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องเล่นกับแนวทางการตลาดและการโฆษณาผ่านเครือข่าย Social Network หรือการบอกเล่าแบบปากต่อปากค่อนข้างมาก ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ยากแก่การวัดหรือติดตามผล อีกทั้งความง่ายในการริเริ่มกิจการ ก็ทำให้ต้องระลึกเสมอว่า คุณอาจจะไม่ใช่รายเดียว ที่คิดถึงไอเดียเหล่านี้ ทำให้อาจจะไม่ใช่วิถีที่ดูยั่งยืนมากนัก

แต่ถ้ามองข้ามจากเรื่องของผลกำไรขาดทุนทางด้านเม็ดเงินลงไปบ้าง (สักนิดหนึ่ง) การสร้าง Boutique Hostels ที่เน้นย้ำในส่วนของเรื่องราวที่ผู้เข้าพักจะได้รับ การลดความแน่นขึงของโรงแรมเครือใหญ่ และอารมณ์แบบ ‘ติดดิน’ ก็เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากกำรี้กำไรที่จับต้องได้ การได้พบเจอนักเดินทางในบรรยากาศที่ใกล้ชิด ก็น่าจะคุ้มค่ามากพอที่จะทำให้ใครรู้สึกอยากจะลองเป็นเจ้าของสถานพักแรมสไตล์นี้ดู สักครั้ง…

หมายเหตุ :: จากที่เน้นย้ำไปก่อนหน้า แม้ Boutique Hostel จะไม่ได้มีลักษณะเหมือน Hotel Chain ขนาดใหญ่ แต่ผู้ประกอบการก็ต้องไปจดทะเบียนให้ถูกต้องเป็นกิจลักษณะ และการลักช่องผ่านตามเว็บไซต์แบ่งปันพื้นที่พักแรม (Co-Space Hostel) อย่าง AirBnb โดยไม่ขึ้นทะเบียน ก็จัดได้ว่ามีความผิด และอาจจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงที่จะตามมาได้…