หายไปไหน 1 สถานี? เจาะปมพิลึกสร้างรถไฟฟ้าไม่เชื่อม วุ่นแน่ ส.ค.นี้!

รถไฟฟ้าสายสีม่วง,รถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าสายสีม่วง,รถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าสายสีม่วง,รถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าสายสีม่วง,รถไฟฟ้า

12 ปีที่รอคอยมาถึงแล้ว… เมื่อวินาทีที่ประชาชนตาดำๆ จะได้มีโอกาสเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางกรุง โดยไม่ต้องฝ่าฟันกับแยกนรก ไม่ต้องต่อสู้กับเวลาอันเร่งรีบ และไม่ต้องฉุนเฉียวกับเพื่อนร่วมทางจอมปาด แหม่ การเดินทางครั้งนี้ช่างราบรื่นสวยงามเสียเหลือเกิน แต่… เดี๋ยวก่อน! หยุดคิด หยุดฝัน หยุดหัวใจพองโตไว้แค่นี้ก่อน เพราะคุณอาจจะหงุดหงิดกับสิ่งที่เจ๊ดำกำลังจะบอกคุณว่า…

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่คุณนั่งยาวมาจากบางใหญ่นู่นนน … มันไม่ได้เชื่อมต่อเข้าเมืองนะคะ มันหยุดอยู่แค่สถานีเตาปูนเท่านั้นค่ะคุณขา ขาดไปอีก 1 กิโลเมตรเศษๆ คุณก็จะไปถึงบางซื่อ สายสีน้ำเงินได้แล้ว แต่มันไปไม่ถึงค่ะ งงซิคะ ทำไมคุณม่วง คุณน้ำเงิน ไม่เชื่อมต่อกัน หลายคนถามเจ๊ดำเข้ามามากมายเหลือเกินค่ะว่า อ้าว แล้วอย่างนี้ชั้นจะไปสยามต่อยังไง ไปหมอชิตต่อยังไง อ้อ! ถ้าอยากไปต่อ ลงมาค่ะ ลงมา 1 กิโลเมตรเศษๆ รอคุณอยู่… เรามีทางแก้มากมายให้เลือกสรรค่ะ 1. นั่งรถเมล์ ขสมก. 2. นั่งชัตเติลบัส 3. นั่งวินฯ 4. ดีเซลราง หรือ 5. ผูกเชือกรองเท้าให้แน่น สวมถุงเท้าให้กระชับ เดินไปค่ะ ไปบางซื่อกัน!”

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 01
รถไฟฟ้า 01

รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 02
รถไฟฟ้า 02

ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีเตาปูน ต้องต่อรถเพื่อที่จะมาขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสถานีบางซื่อ

การรอคอยอันแสนยาวนาน-ความเชื่อมต่อที่ไม่ประสาน เรื่องนี้มีที่มา…

เกริ่นที่มาจากผู้คร่ำหวอดในวงการนี้กันสักหน่อยนะคะ โดยเจ๊ดำได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร หรือในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่ เขากล่าวย้อนหลังไปเมื่อสองปีก่อนว่า จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 57 รัฐบาลมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า การเดินรถไฟฟ้าต้องไม่ผูกขาดกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลจึงมีคำสั่งให้หาเอกชนรายใหม่มาบริหารจัดการเดินรถ โดยไม่ใช้เอกชนรายเดิม นั่นก็คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม

“ตามหลักการแล้ว มติ ครม.ที่ออกมาเช่นนี้ ถือว่าเป็นสิ่งดี แต่ในทางกายภาพกลับทำไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเอกชนรายใหม่ จะทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้โดยสารที่จะต้องเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า 2 ขบวนในการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางจากบางพลัดไปห้วยขวาง ผู้โดยสารจะต้องนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายไปที่หัวลำโพงแล้วเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เดิม) เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ห้วยขวาง แต่ถ้าใช้เอกชนรายเดิมคือบีอีเอ็ม ผู้โดยสารก็ไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าให้เสียเวลา” ดร.สามารถ ยกตัวอย่างเส้นทางให้เห็นภาพมากขึ้น

 

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 03
รถไฟฟ้า 03

เดิมทีรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางใหญ่จะต้องไปถึงบางซื่อ แต่ติดปัญหาบางประการ

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 04
รถไฟฟ้า 04

รอยปะที่เห็นคือ ส่วนที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกัน เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรกว่าๆ

จากนั้น การเฟ้นหาเอกชนเดินรถ 1 สถานีจึงเริ่มต้นขึ้นในปี 2557 ด้วยการเจรจากับ บีอีเอ็ม หรือในฐานะผู้รับสัมปทานหน้าเก่าที่ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (หัวลำโพง-บางซื่อ) โดยจ้างให้บีอีเอ็มเดินรถถึงปี 2572 และให้รวม 1 สถานีเจ้าปัญหาพ่วงท้ายไปด้วย แต่บีอีเอ็มยอมทำให้เพียง 2 ปีเท่านั้น เพราะเกินจากนี้พวกเขาจะเข้าสู่ภาวะขาดทุน

จนกระทั่ง วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) ได้มีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินการ ไปจัดหาเอกชนสำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยมีเงื่อนไขว่า (1) ให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ไม่มีการเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้า และ (2) เร่งรัดงานช่วงเตาปูน-บางซื่อ ให้เสร็จเป็นอันดับแรก โดย ดร.สามารถ ตั้งคำถามว่า “ใครจะไปทำได้ เพราะถ้าเอกชนรายใหม่ได้ทำ เขาจะไปใช้โรงจอดและโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าที่ไหน ดังนั้น จึงเห็นชัดๆ เลยว่าต้องเป็น บีอีเอ็ม เท่านั้นที่ทำได้ แล้วอย่างนี้ทำไมไม่ทำตั้งนานแล้ว

ปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาซังทำไม ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่าปัญหาต้องเกิด”

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 05
รถไฟฟ้า 05

ปัญหาการเดินรถที่ไม่เชื่อมต่อระหว่างเตาปูน-บางซื่อ จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ก็ยังปล่อยให้เกิด และมานั่งแก้ปัญหากันภายหลัง

…สิ่งที่เจ๊ดำเห็น คือ จากมติ ครม. ปี 57 จนมาถึงวันนี้ พ.ค. ปี 59 การเจรจา 2 ปีที่เกิดขั้นนั้น เท่ากับ “สูญเปล่า” มิหนำซ้ำยังทำให้ประชาชนตาดำๆ อย่างเรา ต้องมาเสียเวลาต่อรถต่อรา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากความไม่เชื่อมต่อ…

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 06
รถไฟฟ้า 06

การเดินรถไฟฟ้าต้องไม่ผูกขาดกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลจึงมีคำสั่งให้หาเอกชนรายใหม่มาบริหารจัดการเดินรถ โดยไม่ใช้เอกชนรายเดิม นั่นก็คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม

1 กิโลฯ ที่หายไป เหตุไฉนถึงเป็นเช่นนี้?

ที่มาคร่าวๆ ก็เป็นอย่างที่เจ๊ไล่เรียงผ่านคำบอกเล่าจากปาก ดร.สามารถ ไปแล้วข้างต้น เพราะฉะนั้น วรรคนี้เจ๊จะสโคปลงมาอีกสักหน่อย โดยสโคปมาที่คำถามคาใจของทุกคน ที่ว่า 1 สถานี หรือ 1 กิโลเมตรที่ไม่เชื่อมต่อ ทำไมจึงเกิดขึ้น?

เจ๊นำคำถามนี้ไปถามสดๆ จาก นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งผู้ว่า รฟม.กล่าวกับเจ๊สั้นๆ ก่อนเข้าเรื่องว่า “ถ้ามองว่าเป็นปัญหา ผมขอไม่ตอบ เพราะตอนนี้เรื่องนี้แก้ไขได้เรียบร้อยแล้ว หากถามว่าเกี่ยวกับปัญหาภายในของ รฟม. หรือไม่ ตรงนี้ผมขอไม่ตอบ เพราะตอนนี้ทุกคนทำดีที่สุดแล้ว”

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 07
รถไฟฟ้า 07

หาก บีอีเอ็ม ต้องลงทุนเพิ่ม 1 สถานี แต่สามารถเก็บค่าโดยสารเพิ่มได้เพียง 2 บาท จะทำให้บริษัทขาดทุนปีละ 2,000 ล้านบาท หากจะให้คุ้มทุนจะต้องอยู่ในอัตรา 9.50 บาทต่อกิโลเมตร

เจ๊จึงเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น “ทำไม ความไม่เชื่อมต่อนี้จึงเป็นแผลเรื้อรัง?” คำตอบที่ได้ คือ “ครม. ไม่อนุมัติ เขาทำกันมาแล้วตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เขาใช้วิธีการเจรจาตรงกับ BMCL แต่ ครม.ก็ไม่เอา เนื่องจากเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ ครม.กำหนดไว้ คือ เดินรถถึงปี 2572 จากนั้น พอการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ ครม.จึงบอกยกเลิก ยังไม่ทำในส่วนนี้(1สถานีที่เป็นรอยต่อ) ซึ่งเป็นส่วนที่แยกเฉพาะ และนำไปรวมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้”

เจ๊แถมให้กับอีกหนึ่งคำถามที่ชาวบ้านธรรมดาๆ อยากรู้ “ทำไมต้องสร้างรถไฟฟ้าหลายระบบ เดี๋ยวบนดิน เดี๋ยวใต้ดิน?” โดย นายพีระยุทธ ผู้ว่า รฟม. ตอบว่า “เส้นทางรถไฟฟ้าระหว่างสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินนั้น แยกจากกัน เพราะฉะนั้น คำว่าคนละระบบนับว่าถูกต้องแล้ว เนื่องจากเป็นคนละเส้นทางกัน ซึ่งในทางกายภาพไม่ได้อยู่บนเส้นทางเดียวกัน หรือเส้นทางไม่ได้ต่อกัน เพียงแต่ว่าที่สถานีเตาปูนนั้น สร้างเป็นสถานีเชื่อมต่อ เปลี่ยนถ่ายระหว่าง สายสีม่วง กับ สายสีน้ำเงิน และเมื่อเปิดให้บริการ ประชาชนจะพบว่า สถานีเตาปูนมี 2 ชานชาลา ชานชาลาบนเป็นสายสีม่วง ชานชาลาล่างเป็นสายสีน้ำเงิน”

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 08
รถไฟฟ้า 08

สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ จุดที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง

ขณะที่ นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.บีอีเอ็ม หรือ ในฐานะ MD แห่ง ช.การช่าง รับผิดชอบงานด้านรถไฟฟ้า กล่าวกับเจ๊ดำว่า “เดิมที 1 สถานี หรือ 1 กิโลเมตรที่ว่านี้ มีกำหนดการที่จะเปิดในเดือนธันวาคมปี 59 แต่ติดขัดปัญหาในเรื่องของความล่าช้า หากเขาตัดสินใจเอาไปตั้งแต่แรกก็จบ และเราก็จะทำเสร็จทันเดือนธันวาคมปีนี้ไปแล้ว”

หากบีอีเอ็มต้องลงทุนเพิ่ม 1 สถานี แต่สามารถเก็บค่าโดยสารเพิ่มได้เพียง 2 บาท จะทำให้บริษัทขาดทุนปีละ 2,000 ล้านบาท หากจะให้คุ้มทุนจะต้องอยู่ในอัตรา 9.50 บาทต่อกิโลเมตร เพราะการทำรถไฟฟ้าเพียงหนึ่งสถานีจะต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าคนอื่น ประกอบกับการเก็บเงินได้เพียงหนึ่งสถานี จะทำให้มีรายรับเพียงเล็กน้อย สวนทางกับรายจ่ายที่จะยิ่งโตขึ้น.

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 09
รถไฟฟ้า 09

ผู้โดยสารจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินไม่เชื่อมต่อกันอย่างที่มันควรจะเป็น

เจ๊ดำ ขอถามตรงๆ ต่อเนื่อง กับ MD แห่ง ช.การช่างว่า “หลายคนมองว่า บีอีเอ็ม เล่นเกมกับรัฐ โดยมีประชาชน และความคืบหน้าของรถไฟฟ้าเป็นเดิมพันอยู่หรือเปล่า?” นายสมบัติ ตอบกลับเจ๊มาว่า “คำตอบคือ ไม่ เราไม่ได้เล่นเกม เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราพร้อมที่จะดำเนินการตามรัฐบาล และเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราเคยเสนอให้แก่รัฐบาล คือ ราคาที่ถูกกว่า สะดวกกว่า รวดเร็วกว่า คือทุกอย่างมีคำว่า กว่า ไปเสียทุกอย่าง และไม่ใช่เราเล่นเกมอะไร ถ้าเล่นเกมคือ เราไม่ยอมทำ แต่นี่เรายอมทำไปเสียทุกเรื่อง ซึ่งอุปสรรคของเรื่องนี้อาจอยู่ที่การทำเพียงหนึ่งสถานี ซึ่งเปรียบเสมือนกับการซื้อของ 1 ชิ้น กับซื้อของ 20 ชิ้น ก็จะมีความแตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของรัฐบาลที่ตัดสินใจว่า ฉันจะไม่ซื้อของ 1 ชิ้นแล้ว แต่ฉันจะซื้อของยกลอตทั้ง 20 ชิ้นเลย คือ ทำน้ำเงินส่วนต่อขยายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่ 1 สถานีที่ว่านี้ ก็อยู่ในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอยู่ดี”

“ผมไม่คิดว่าเป็นความผิดของใคร เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหุตและผลของมัน ดังนั้นคนที่ให้เหตุผลเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ไม่ใช่ฝั่งผม แต่คือฝั่งภาครัฐเอง” สมบัติ MD แห่ง ช.การช่าง แสดงวาจาเชือดเฉือน

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 10
รถไฟฟ้า 10

รอยปะที่เห็นคือ ส่วนที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกัน เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรกว่าๆ

ส่วน ดร.สามารถ ฉะตรงไปตรงมากับเจ๊ดำอีกว่า “ปัญหาหลักของเรื่องนี้ คือ ความล่าช้าในการจัดหาผู้ประกอบการเดินรถ ซึ่งตัว รฟม. เองก็รับรู้กันมาหลายปีแล้วว่า ปัญหาการเดินรถที่ไม่เชื่อมต่อระหว่างเตาปูน-บางซื่อ จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ก็ยังปล่อยให้เกิด และมานั่งแก้ปัญหากันภายหลังแบบนี้”

แก้ปัญหาเฉพาะหน้า? ทางออกของความไม่เชื่อมต่อ คือ…

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใกล้วันเปิดหวูดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 6 สิงหาคมที่กำลังจะถึงนี้ โดย รฟม. เขามีหนทางแก้ปัญหาการเดินรถที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน ดังต่อไปนี้ 1. จะขอความร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชน กรุงเทพ (ขสมก.) นำรถเมล์มาวิ่งเป็นระบบรถเวียน (Shuttle Bus) รับ-ส่งสถานีเตาปูนและสถานีบางซื่อ และ 2. หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำรถดีเซลรางวิ่งบนรางรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) รับส่งผู้โดยสารจากสถานีบางซ่อนที่เชื่อมกับสายสีม่วงไปยังสถานีบางซื่อ

“เรายอมรับว่า เมื่อเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง การเดินรถจาก เตาปูน จะยังไม่เชื่อมต่อกับ บางซื่อ ดังนั้นทาง รฟม. จึงจัดให้มีบริการเสริม ซึ่งคาดว่าบริการทั้งสองประเภทจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ฟรี” ผู้ว่า รฟม. แนะวิธีเชื่อมต่อด้วยตัวเอง

1 สถานีที่หายไป ไม่ได้ไปไหนหรอกค่ะคุณผู้อ่าน

เพียงแต่ว่า มันสถิตอยู่ในกระดาษ แต่ยังไม่ออกมาเป็นความจริง

6 สิงหานี้รอดู คนกรุงจะว้าวุ่นหรือไม่? ต้องติดตาม…

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปจาก  เจ๊ดำ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ thairath.co.th

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th