วอน กทม. ทบทวน ชี้เลิก BRT คือ “ถอยหลังตกคลอง” ยันขาดทุนเรื่องปกติ

BRT,ขสมก.,บีอาร์ที
BRT,ขสมก.,บีอาร์ที
BRT,ขสมก.,บีอาร์ที
BRT,ขสมก.,บีอาร์ที

วันนี้ (7 ก.พ.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก กรณี กทม.ตัดสินใจเลิก BRT หากหมดสัญญา โดยนายสามารถตั้งคำถามว่า ยกเลิกบีอาร์ที คิดดีแล้วหรือ? มีรายละเอียดดังนี้

พลันที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศยกเลิกให้บริการรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT ) ก็มีเสียงสะท้อนในเครือข่ายสังคมมากมาย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิก พร้อมทั้งตำหนิการบริหารจัดการเดินรถของ กทม. มีบ้างที่ตำหนิคนคิดโครงการบีอาร์ทีขึ้นมา ทั้งนี้ มีเสียงสะท้อนมาถึงผมจากนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่งหลายคนที่ไม่อยากให้ยกเลิกบีอาร์ที

ผมในฐานะผู้ริเริ่มทำโครงการบีอาร์ทีไว้ในปี พ.ศ.2548 เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้ทำจนจบ หลังจากพ้นตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม.แล้ว ผมทราบว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการบางประการ ไม่เป็นไปตามแนวคิดที่ผมได้วางไว้ ทำให้ประสิทธิภาพของบีอาร์ทีลดลงเมื่อเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2553

แม้บีอาร์ทีที่ กทม.เปิดให้บริการไม่เป็นไปตามแนวคิดที่ผมวางไว้ทั้งหมดก็ตาม แต่บีอาร์ทีก็มีผู้โดยสารเฉลี่ยในวันทำการในปี พ.ศ.2559 ถึง 23,427 คนต่อวัน จำนวนผู้โดยสารขนาดนี้ถือว่ามากกว่าผู้โดยสารของบีอาร์ทีในต่างประเทศหลายเมือง ที่สำคัญ บีอาร์ทีมีจำนวนผู้โดยสารพอๆ กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ในขณะที่ค่าสร้างบีอาร์ทีถูกกว่าค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงถึงประมาณ 20 เท่า เมื่อดูผลประกอบการ ปรากฏว่าบีอาร์ทีขาดทุนเพียงแค่ประมาณ 500,000 บาทต่อวัน ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนถึงประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อวัน

หาก กทม.อ้างการขาดทุนเป็นเหตุผลสำคัญในการยกเลิกบีอาร์ที ถามว่าเหตุใดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงไม่ยกเลิกการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เหตุใดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จึงไม่ยกเลิกการให้บริการรถเมล์ หรือเหตุใดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จึงไม่ยกเลิกการให้บริการรถไฟ เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้ต้องแบกภาระการขาดทุนหนักกว่า กทม.หลายเท่า อนึ่ง เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าการให้บริการขนส่งมวลชนโดยภาครัฐ ไม่ว่าที่ไหนก็ขาดทุนกันทั้งนั้น เพราะถือเป็นพันธกิจสาธารณะ หรือพีเอสโอ (Public Service Obligation) ที่รัฐต้องให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่หวังผลกำไร แต่เราต้องทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด

หาก กทม.อ้างว่าการให้บริการบีอาร์ทีไม่ใช่ภารกิจหลักของ กทม. ถามว่าเหตุใด กทม.จึงคิดโครงการถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทยขึ้นมา แล้วให้เอกชนคือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รับสัมปทานไป รถไฟฟ้าบีทีเอสก็เป็นระบบขนส่งมวลชนเช่นเดียวกับบีอาร์ที เมื่อบีทีเอสเป็นภารกิจหลักของ กทม.ได้ บีอาร์ทีก็จะต้องเป็นภารกิจหลักของ กทม.ได้เช่นเดียวกัน ที่สำคัญ หากการให้บริการระบบขนส่งมวลชนไม่ใช่ภารกิจหลักของ กทม. แล้วทำไมจึงมีแนวคิดที่จะโอน ขสมก.มาอยู่กับ กทม. และหากการแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่ภารกิจหลักของ กทม. แล้วทำไมจึงมีแนวคิดที่จะโอนตำรวจจราจรมาสังกัด กทม.

น่าเสียดายที่ กทม.ยกเลิกบีอาร์ทีโดยไม่คำนึงถึงข้อคิดเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่มีหนังสือไปถึง กทม. ลงวันที่ 20 มกราคม 2560 สรุปข้อความสำคัญได้ว่า “การบริหารจัดการจราจรโดยประสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรและกรุงเทพมหานครในการกวดขันจับกุมผู้ใช้รถยนต์ที่ฝ่าฝืนเข้าไป/กีดขวางในช่องทางของรถโดยสารบีอาร์ที รวมทั้งการปรับระบบสัญญาณไฟควบคุมการจราจรบริเวณทางแยก จุดตัดตลอดสายทางของช่องทางรถโดยสารบีอาร์ที เพื่อให้รถโดยสารบีอาร์ทีได้รับความสะดวกและสามารถควบคุมเวลาในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครควรพิจารณาแนวทางการบริหารโครงการระบบรถโดยสารบีอาร์ทีในรูปแบบที่มีการพัฒนาใหม่ทั้งในเชิงเทคนิคและการเงินที่มีความเหมาะสมกับกรุงเทพมหานคร ทั้งในแนวเส้นทางเดิมและแนวเส้นทางใหม่ที่อาจขยายเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน” นั่นหมายความ สนข.ไม่ได้ต้องการให้ กทม.ยกเลิกการให้บริการบีอาร์ที แต่ สนข.เสนอแนะให้ กทม.ปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น

ขอขอบคุณ  มติชนออนไลน์

อ่านหน้า 2

ต้องการซื้อ-เช่ !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่

ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย