5 เรื่องผวาของหน้าใหม่สนามขายอสังหาฯ!

โอเค ลองนึกภาพตามสถานการณ์ดังต่อไปนี้…คุณมีสินทรัพย์อสังหาฯ ที่ดูดีทีเดียวอยู่ในการครอบครอง คุณไม่ได้มีแผนการที่จะทำอะไรกับมันอย่างจริงจัง คุณเล็งเห็นโอกาสดีจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และคุณตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า ‘ขายดีกว่าชัวร์สุด’

แต่แล้วเมื่อคุณตัดสินใจว่าจะ ‘ขาย’ ความมั่นใจใดๆ ที่เคยมีอย่างมากในช่วงเริ่มต้น ก็ดูจะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงตามระยะเวลา คุณไม่เข้าใจ คุณสับสน คุณนั่งถามตัวเองว่ามันมีอะไรที่ผิดพลาด อสังหาริมทรัพย์ที่คุณมีมันไม่เหมาะสมหรืออย่างไร ทำไมคนอื่นถึงได้ปล่อยเอาๆ พาลจะคิดว่า คงต้องยกเลิก เอาอาคารไปทำหอพักเก็บกินยาว (หรือเอาที่ดินไปขุดบ่อเลี้ยงกุ้ง) น่าจะเข้าท่ากว่า

แต่ก่อนจะเริ่มตีอกชกตัว ลองดู checklist ห้าข้อเหล่านี้ ว่ามันตรงกับความกระวนกระวายใจของคุณมากน้อยเพียงใด จะได้รีบแก้ไขทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆ

//บ้านขายไม่ออก

Credits: seeker401.wordpress.com

ปัญหา: ลงประกาศ ติดป้าย จนถึงฝากขายมาก็เนิ่นนาน เสียงโทรศัพท์ติดต่อขอซื้อก็ไม่ได้มีมาให้เห็นสักสาย (ขัดแย้งกับโทรศัพท์ทวงหนี้อย่างสิ้นเชิง…) ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ความกระวนกระวายใจจนถึงขั้น ‘หลอน’ ก็ยิ่งทวีคูณ

ทางแก้: อสังหาริมทรัพย์คือสินทรัพย์ที่ต้องใช้เวลา มีปัจจัยมากมายที่มาเกี่ยวข้องกับกระบวนการ (ทั้งข้อกฎหมาย, ราคาที่เหมาะสม สภาวะตลาดในช่วงนั้นๆ) ทิ้งระยะไว้สักหกเดือน ถ้ายังไม่มีการตอบสนองใดๆ ก็อาจจะต้องมาคิดหาทางแก้ไข (หรือบางที ป้ายประกาศอาจจะถูกกราฟิตี้สีพ่นทับไปแล้วก็เป็นได้…)

//วุ่นวายทำความสะอาดปรับปรุง

Credits: foodal.com

ปัญหา: แค่อยู่อาศัยปกติก็วุ่นวายจะตายอยู่แล้ว พอจะขายบ้าน งานปัดกวาดซ่อมแซมที่สั่งสมมานานก็โผล่หน้ามาอย่างสาสม คุณได้แต่นั่งปัดกวาดเก็บซากทั้งหลาย พร้อมกับถามตัวเองในใจ … ปล่อยขายออกไปทั้งอย่างนี้ไปเลยไม่ได้หรือ?

ทางแก้: ปรับความคิดเสียใหม่ เพราะแม้ว่าทำเล จะเป็นเสาหลักของงานซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (“ทำเล! ทำเล! ทำเล!” คาถาสามคำศักสิทธิ์แห่งนักอสังหาฯ มือทอง…) แต่คงไม่มีใครหน้าไหนพร้อมจ่ายให้กับบ้านโทรมๆ ที่ต้องซื้อมาเพื่อปรับปรุงด้วยตนเองแบบหัวจรดท้าย (แม้มันจะมีหลักการ Flipping รองรับไว้ก็ตาม…) ดังนั้นแล้ว อดทน แล้วปรับปรุงให้สินทรัพย์คุณดูดีที่สุดเสียก่อนจะปล่อยขาย

//ต้องวันนี้เท่านั้น!

Credits: woodstockexchange.co.za

ปัญหา: คุณมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ในการครอบครองของตนเอง (เช่น ติดหนี้ต้องการเงินหมุนด่วน ย้ายไปต่างประเทศ หรือต้องกลับบ้านต่างจังหวัดไปดูใจแม่ยาย…) แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะปล่อยออก เข็มนาฬิกาก็หมุนวนไปทุกขณะ ทบกับความวุ่นวายใจที่มีแต่เดิมให้เพิ่มสูงขึ้น

ทางแก้: ‘อสังหาริมทรัพย์คือสินทรัพย์ที่ต้องใช้เวลา’ จำข้อนี้ให้ขึ้นใจ คุณไม่สามารถไป ‘เร่ง’ มันได้โดยไม่ต้องจ่ายอะไรกลับคืน แน่นอนว่าคุณสามารถไปถึงเป้าหมายด้านเวลาได้ แต่คุณต้องยอมกับผลลัพธ์ทางด้านผลตอบแทน ซึ่งถ้าคุณไม่แคร์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ แล้วล่ะก็ เดินหน้าได้เลย (แต่เราคิดว่าคุณควรจะ ‘แคร์’ มันสักหน่อยก็ดี…)

//โดนต่อราคาต่ำกว่าที่ตั้งใจ

Credits: jezebel.com

ปัญหา: คุณได้ผู้ซื้อที่สนใจ ตกลงนัดแนะดูสถานที่กันอย่างดี พูดคุยกันถูกคอ และคิดว่าการซื้อขายน่าจะแล้วเสร็จได้เสียที แต่กลับมาสะดุดเมื่อผู้ซื้อรายดังกล่าว เสนอราคาที่คุณถึงกับผงะ เพราะมันต่ำมากกว่าที่ตั้งใจเอาไว้ ครั้นจะปฏิเสธไป ก็กลัวว่าโอกาสที่ได้จะหลุดลอย

ทางแก้: มีแต่คุณ และผู้ประเมินจากธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่จะรู้ว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ในมือนั้น มีมูลค่ามากน้อยเพียงใด แน่นอนว่าใครๆ ก็ต้องอยากได้ของ ‘ถูกและดี’ แต่ในเมื่อคุณมั่นใจในมูลค่าของสินทรัพย์ ก็จงยึดมั่นในจุดยืนเหล่านั้นเสีย อย่าได้สั่นไหว ถ้าของมันดีจริง

//ไม่อยากเปิดบ้านรับแขก

Credits: quotesgram.com

ปัญหา: ถ้าปกติคุณเป็นคนที่ชอบปลีกวิเวกเป็นนิจศีล ยุ่งเกี่ยวและปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ การเปิดบ้านให้คนอื่นได้เข้ามาเยี่ยมดูเยี่ยมชมก่อนการซื้อขาย คงเป็นวาระที่น่าหนักใจ และรบกวนความสงบของคุณอยู่ไม่น้อย ไหนจะกลัวพวกฉวยโอกาสลักขโมยอีก

ทางแก้: ขนาดจะซื้อเสื้อซื้อรองเท้ายังต้องลองใส่ นับประสาอะไรกับอสังหาริมทรัพย์ เราไม่ได้บอกให้คุณอ้าแขนต้อนรับว่าที่ผู้ซื้อให้เข้ามาพำนักอยู่อาศัย (นั่นก็เกินไป…) แต่การเปิดบ้านให้ได้เยี่ยมชม จะเพิ่มโอกาสการตัดสินใจของผู้ซื้ออยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้น เพราะถ้าลงว่าเขาตัดสินใจมาหา ใจเกินกว่าครึ่งก็คงต้องรู้สึกว่าอสังหาฯ ชิ้นนี้มันเข้าตาแน่ๆ ที่คุณต้องทำก็แค่ ‘เชียร์’ เขาอีกหน่อยนึงเท่านั้นเอง

การตัดสินใจขายอสังหาริมทรัพย์ คือวาระที่สำคัญไม่แพ้กับการเริ่มต้นซื้อ มันมีขั้นตอน กระบวนการ และรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่คุณต้องใส่ใจ แต่เราอยากให้มองว่า นี่เป็นโอกาสดีจะเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ชิ้นนี้ของคุณให้ขึ้นสู่จุดสูงสุด และถ้ามันจะทำให้คุณไปถึงปลายทางที่ตั้งใจ (หรือใกล้เคียง) ก็น่าจะเป็นความคุ้มค่า ไหนๆ ก็จะสั่งลาสินทรัพย์ชิ้นนี้แล้ว ทำให้ถึงที่สุด ให้เป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับการเริ่มต้นใหม่หน่อยเป็นไร …