เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘เงินประกันการเช่าหอพัก’

หากจะกล่าวกันถึงสิ่งที่เรียกว่าสถานที่พักอาศัยแล้วนั้น แน่นอนแล้วว่า เป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าจะอยู่ในช่วงของชีวิตใดก็ตาม เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ไม่สามารถขาดไปได้ และเป็นเหตุผลที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นที่ต้องการแม้จะมีราคาที่สูงขึ้นสำหรับการได้มาในครอบครอง แต่ในทางหนึ่ง สำหรับใครที่ไม่อาจจะมีโอกาสเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะด้วยสภาพเศรษฐกิจ การเงิน หรือความจำเป็นทางด้านการงานที่ต้องเดินทางตลอดเวลา การเช่าที่อยู่อาศัย ก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ แม้อาจจะไม่คุ้มค่าในระยะยาวกับเม็ดเงินที่เสียไปก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การเช่าเพื่อการอยู่อาศัย ย่อมมีข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย และ ‘เงินประกันการเช่า’ ก็จัดอยู่ในปัญหาดังกล่าวที่มักจะได้รับข้อกังขาสงสัย และเกิดเป็นกรณีพิพาทระหว่างผู้เช่าและเจ้าของสถานที่อยู่มาโดยตลอด เช่นนั้นแล้ว การทำความเข้าใจของสิ่งนี้ให้ถี่ถ้วน ก็อาจจะช่วยให้ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลงไป สู่พื้นฐานความเข้าใจที่ตรงกันได้ในปลายทาง

//ค่าประกันหอพัก คืออะไร?

ในการทำสัญญาเช่าสถานที่พัก หรือหอพักนั้น โดยปกติแล้วจะต้องมีการเซ็นสัญญาเพื่อรับทราบถึงเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงกฎและข้อปฏิบัติที่ผู้เช่าอยู่จะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์ ห้ามสูบบุหรี่ในที่พัก ห้ามพาคนนอกเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต จนถึงทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของผู้ให้เช่า ที่จะต้องมีการปรับสินไหมทดแทนตามความเสียหายหรือชำรุดที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลา เหล่านี้ ถือเป็นที่พบเห็นได้เป็นปกติ ไม่ผิดแปลกแต่อย่างใด

แต่จากเงื่อนไขการปรับเงินจากความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ทางเจ้าของสถานที่ก็จะทำการหักจากเงินที่ผู้เช่าอยู่อาศัยได้วางเอาเป็นเป็นส่วนแยกต่างหาก ซึ่งก็คือค่าประกันหอพักหรือที่อยู่อาศัยนั่นเอง

//เงินประกันการเช่า กับระยะเวลาอยู่อาศัย

จากเหตุผลที่กล่าวไปในข้อข้างต้น ผู้เป็นเจ้าของสถานที่เพื่อเช่าอยู่อาศัย มักจะมีข้อกำหนดลงนามอย่างชัดเจนในสัญญาเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการหักเงินจากส่วนประกันสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ผู้เช่าเข้าพัก จะต้องอยู่อาศัยในสถานที่นั้นๆ เป็นเวลากี่เดือนตามแต่ที่จะกำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับรองถึงผลประโยชน์และคุ้มครองในส่วนของผู้ให้เช่าพัก รวมทั้งผู้เช่าสามารถขอเงินประกันส่วนนี้คืนได้ หากอยู่อาศัยจนครบตามกำหนดเวลา (แต่โดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่ได้ครบตามจำนวนเริ่มต้น จากการหักส่วนค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมสภาพตามระยะเวลา)

ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นเพียงกระบวนการตามสัญญาของการเช่าและให้เช่าที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และเป็นที่เข้าใจกันได้ทั้งสองฝั่ง (ไม่ว่าจะเป็นผู้เช่า หรือเจ้าของสถานที่ก็ตาม) แต่กระนั้น ปัญหาเกี่ยวกับเงินประกันการเช่าสถานที่พัก ก็ยังคงเป็นสิ่งที่พบเห็นและปรากฎได้บ่อยครั้ง อันเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และ/หรือ ความไม่ชัดเจนในข้อสัญญา ที่เราจะขอหยิบยกกรณีศึกษา และหาข้อสรุปกันในบทตอนถัดไป