Airbnb กับธุรกิจอสังหาฯ: ความคุ้มค่า ‘สีเทา’ (ตอนที่ 2)

จากตอนที่ผ่านมา ที่เราได้เกริ่นถึงที่มาที่ไป และคุณลักษณะของธุรกิจปล่อยเช่าอย่าง Airbnb กันไปแล้วนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงจะรู้สึกว่า นี่เป็นหนทางใหม่ในการจัดการและบริหารอสังหาริมทรัพย์ ยืดหยุ่น และสามารถเป็นรายได้ชดเชยส่วนต่างในระหว่างทางได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับการมาถึงของนวัตกรรมใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อมันเปลี่ยนสภาพจากโครงการขำๆ ระหว่างเพื่อน สู่พื้นที่ทางพาณิชย์และตลาดใหญ่ภายนอกแล้วนั้น มันยากนัก ที่จะหลีกเลี่ยงความลักลั่น และอุปสรรคในแง่มุมต่างๆ รวมถึงการนำแนวคิดนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่จนถึงปัจจุบัน

//ชักศึกเข้าบ้าน

ลองนึกภาพตามว่า ถ้าวันดีคืนดี คุณโดนใครก็ไม่รู้ ถือวิสาสะเข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้าน ทำลายทรัพย์สิน ประกาศความเป็นเจ้าของ นี่คงจะเป็นสถานการณ์สุดสยองราวกับจะหลุดมาจากภาพยนตร์ระทึกขวัญเกรดบี แต่เหล่านี้ คือปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นกับธุรกรรมของ Airbnb มาโดยตลอด ตั้งแต่กรณีพื้นฐานอย่างห้องที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่ลงประกาศโฆษณา การเช่าอยู่เกินเวลา เข้าครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การใช้เป็นแหล่งมั่วสุม การย่องเบา หรือในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือ มี ‘คนตาย’ ในพื้นที่เช่า (ที่กลายเป็นความรับผิดชอบของเจ้าบ้านเต็มๆ) ซึ่งที่ผ่านๆ มา ก็ได้มีข้อร้องเรียนไปยังทางต้นสังกัดมาโดยตลอด แต่การตอบสนองของทาง Airbnb ที่มีต่อผู้ประกอบการรายย่อย ก็ยังไม่ได้ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ

Credits: ctvnews.ca

//พื้นที่สีเทา

นอกเหนือจากความปลอดภัยและกฎระเบียบในการกำกับดูแลที่ยังไม่ชัดเจนแล้วนั้น รายได้จำนวนมหาศาลที่เกิดจากกิจการ Airbnb ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สีเทาที่สร้างความปวดหัวให้กับภาครัฐอยู่ไม่น้อย เพราะความไม่ชัดเจนและไม่มีกฎหมายมากำกับว่าบ้านและที่อยู่อาศัยที่ถูกนำไปปล่อยเช่าใน Airbnb นั้น คืออสังหาฯ ประเภทใดกันแน่ มันจึงกลายเป็นช่องว่างในนิยามและข้อปฏิบัติ รวมทั้งทำให้เชื่อกันว่า ยังมีเม็ดเงินอีกไม่น้อยที่ตกสำรวจ ที่นำไปสู่การดัดแปลง ตกแต่ง และปล่อยเช่า ‘ผิดประเภท’ เช่น คอนโดมิเนียมขนาดสองห้องนอน ที่ดัดแปลงให้กลายเป็นโฮสเทลที่พักขนาด 12 เตียง (หรือ 24 ที่นอนแบบเตียงสองชั้น…) อีกทั้งการไม่แน่นอนในประเภทของธุรกิจ ทำให้การคุ้มครองสิทธิ์ผู้ประกอบการที่พักหรือโรงแรม และผู้บริโภค ไม่ครอบคลุมไปถึงผู้จัดสรรพื้นที่บน Airbnb ได้

Credits: thevillager.com

แน่นอนว่าทางภาครัฐของประเทศต่างๆ เองก็เริ่มมีมาตรการกวดขันอย่างจริงจัง ไม่ว่าการพิจารณาร่างภาษีการปล่อยเช่า การกำหนดโซนนิ่งของพื้นที่ หรือการกำกับดูแลธุรกิจใหม่ แต่การขยายตัวของ Airbnb ก็ยังคงนำหน้ายิ่งกว่ามาตรการใดๆ จะมากำกับลงไปได้ และคงใช้เวลาอีกนาน กว่าที่ทุกสิ่ง่จะเข้าที่เข้าทาง อย่างที่ควรจะเป็น

//มากกว่าฟูกลมและขนมปัง

ในเช้าวันที่ Brian Chesky กับ Joe Gebbia ตื่นขึ้นมาพร้อมไอเดียที่จะเปิดบ้านแชร์พื้นที่ให้อยู่อาศัย อันเป็นแนวคิดแบบกึ่ง Roadtrip ตามประสานักเรียนหัวก้าวหน้าวัยเฟื่องนั้น พวกเขาคงไม่ได้จินตนาการไปในวาระที่ไอเดียดังกล่าว จะสามารถต่อยอดลากยาวมาจนเป็น Airbnb.com ดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ แน่นอนว่ามันไม่ต่างอะไรกับการมาถึงของนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ทั้ง Microsoft, Apple, Facebook และ Instagram หากแต่ Airbnb ที่พาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็มีความซับซ้อนที่ยากจะหาจุดลง อันเป็นโจทย์หลักที่เหล่าผู้บริหารจะต้องคิดคำนึง และยังคงมีสิ่งที่ต้องก้าวข้ามผ่านไป มีข้อปะทะทางกฎหมายที่ต้องตอบสังคมให้ได้ และมีปลายทางที่เกี่ยวกับความชัดเจนในโลกแห่งธุรกิจที่สัมพันธ์กับสิ่งที่จับต้องได้ ในรายได้มหาศาลเช่นอสังหาริมทรัพย์นี้….

โลก….ที่มีมากกว่าฟูกลมและขนมปัง

Credits: calgarysun.com