การบังคับคดีล้มละลาย ตอน การประชุมเจ้าหนี้

การบังคับคดีล้มละลาย

การประชุมเจ้าหนี้ ใน การบังคับคดีล้มละลาย มีวัตถุประสงค์ในการประชุมเจ้าหนี้ก็เพื่อให้โอกาสลูกหนี้ได้ขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ ก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ล้มละลาย ดังนั้นกระบวนการล้มละลายจึงบัญญัติให้มีขั้นตอนการพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดก่อนที่จะพิพากษาให้ล้มละลาย

การประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาในประเด็นดังนี้ คือ

1.จะยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือ ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

  1. ปรึกษาวิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป เช่น การยึดทรัพย์ การขายทรัพย์ การดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ต่อไปหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าจำเป็น

การนัดประชุมเจ้าหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวัน เวลา สถานที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ โดยลงโฆษณาล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน นอกจากนี้ยังต้องมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ (จากข้อมูลที่รวบรวมมาได้จากเอกสารของลูกหนี้ หรือจากคำชี้แจงเกี่ยวกับหนี้สินที่ลูกหนี้ยื่นตามมาตรา 30 (2) )

การนัดประชุมเจ้าหนี้นั้นเห็นว่าอย่างน้อยน่าจะกระทำได้ต่อเมื่อลูกหนี้ได้ยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของตนแล้ว ซึ่งในขั้นตอนนี้ลูกหนี้จะต้องยื่นภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเพื่อเอาข้อมูลเจ้าหนี้ทั้งหมดที่ลูกหนี้ชี้แจงไปเป็นฐานข้อมูลในการส่งนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกต่อไป

หากลูกหนี้มิได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ เจ้าหนี้จะลงมติมิให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้  เพราะการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกก็เพื่อให้โอกาสลูกหนี้ในการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ดังนั้นหากลูกหนี้ไม่ขอประนอมหนี้ หรือการขอประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ การที่เจ้าหนี้จะลงมติเป็นอย่างอื่น เช่น ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็คงจะไม่ชอบด้วยหลักการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

การประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น ในกรณีดังต่อไปนี้

  • เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมตามเวลาที่เห็นสมควร(กรณีมีข้อหารือที่จะปรึกษาที่ประชุมเจ้าหนี้ เช่น ควรจะยอมรับทรัพย์จำนองของเจ้าหนี้มีประกัน ซึ่งไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 เข้ามาในกองทรัพย์สินหรือไม่)
  • เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ เช่น เพื่อพิจารณาข้อเสนอชำระหนี้ของผู้มีส่วนได้เสียในการเข้าใช้หนี้แทนเจ้าหนี้ ซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนหนี้ที่ได้มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ได้ ทำหนังสือขอเรียกประชุม

การรายงานศาลขอให้พิจารณาคำขอประนอมหนี้หรือพิพากษาให้ การบังคับคดีล้มละลาย

เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติประการใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรายงานศาล เพื่อพิจารณาแยกเป็น 2 กรณีดังนี้

  • กรณีลูกหนี้ยื่นคำขอประนอนหนี้และที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานศาลขอให้ไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยและพิจารณาคำประนอมหนี้ของลูกหนี้
  • กรณีลูกหนี้ไม่ยื่นคำขอประนอมหนี้หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบกับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอรายงานศาลขอพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย หากเป็นกรณีลูกหนี้ไม่มาให้คำสอบสวนกิจการและทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานขอให้ศาลออกหมายจับลูกหนี้ ขอให้ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย และงดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย

การบังคับคดีล้มละลายการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้และการพิจารณาทำความเห็น

การสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น เป็นกระบวนการที่ดำเนินการเช่นเดียวกับการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องสอบสวนพยานของเจ้าหนี้เกี่ยวกับมูลหนี้ที่ขอชำระ พยานหลักฐานต่าง ที่เกี่ยวข้อง และสอบสวนเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ผู้โต้แย้งขอคำรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละรายต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่าหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มานั้นเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง เจ้าหนี้สามารถขอรับชำระหนี้ได้ ตลอดจนพิจารณาว่าเจ้าหนี้ จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด หรือเจ้าหนี้ไม่ควรได้รับชำระหนี้เลย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นในการขอรับชำระหนี้รายใด แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแจ้งคำสั่งขอรับชำระหนี้นั้นให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องทราบ

การสอบสวนและทำคำสั่ง หรือทำความเห็นในสำนวนสาขาอื่นๆ

นอกจากสำนวนคำขอรับชำระหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องทำการสอบสวนและพิจารณาทำความเห็นแล้ว ยังมีสำนวนสาขาอื่นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องทำการสืบสวนผู้ร้องอื่น เช่น

  • สำนวนเพิกถอนการโอน หรือสำนวนเพิกถอนการฉ้อฉล
  • สำนวนร้องขอกันส่วน
  • สำนวนขอหักกรบลบหนี้
  • สำนวนทวงหนี้
  • สำนวนขอปฎิบัติตามสัญญา
  • สำนวนคำขอเจ้าหนี้ตามมาตรา 95

ในสำนวนสาขาเหล่านี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องพิจารณาจากคำให้การสอบสวนของลูกหนี้และคำร้องของผู้ร้องอันมีเหตุอันสมควรตั้งเป็นสำนวนสาขาหรือไม่ อยู่ภายในระยะเวลาที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ หมดอายุความเมื่อใด เป็นประโยชน์ต่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ หากดำเนินการตั้งสำนวนสาขาดังกล่าวขึ้นแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องหมายเรียกผู้ร้องผู้เกี่ยวข้องลูกหนี้มาทำการสอบสวนในประเด็นต่างๆ และพิเคราะห์พยานหลักฐานที่นำส่งประกอบคำให้การ พิจารณาทำความเห็นหรือคำสั่งต่อไป

เมื่อทำการสอบสวนครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องพิจารณาทำความเห็นหรือคำสั่งในสำนวนสาขานั้นๆ ต่อไป

การบังคับคดีล้มละลายการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้

  • การดำเนินการในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3)
  • การอายัดเงินเดือน เงินในบัญชี หรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อบุคคลภายนอก เพื่อนำเงินรวบรวมเข้ากองทรัพย์สิน
  • การยึดทรัพย์สินลูกหนี้เพื่อนำออกขายทอดตลาด ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องทำการตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์ของลูกหนี้หรือไม่ ทรัพย์ดังกล่าวสามารถบังคับคดีได้หรือไม่เพียงใด เมื่อทำการยึดแล้วต้องมีหน้าที่ในการประเมินทรัพย์ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของทรัพย์แต่ละรายการ ต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบการยึด เมื่อถึงขั้นตอนการขายทอดตลาดต้องจัดทำประกาศขายทอดตลาดและส่งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ เพื่อมาดูแลการขาย
  • การติดตามรวบรวมทรัพย์สิน กรณีที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้สำเร็จและมีการผ่อนชำระเป็นงวด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องติดตามให้ลูกหนี้ชำระเงินตามคำขอประนอมหนี้ให้ตรงตามที่เสนอไว้ในคำขอประนอมหนี้หากผิดนัดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องรายงานศาลขอให้ศาลยกเลิกการประนอหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
  • การทวงหนี้ กรณีที่ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเรียกให้บุคคลภายนอกนั้นชำระหนี้ เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินต่อไป
  • การพิจารณากำหนดค่าเลี้ยงชีพให้กับลูกหนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดเงินเดือน หรือเงินอื่นใดของลูกหน้มาแล้ว ลูกหนี้สามารถที่จะยื่นคำร้องขอเลี้ยงชีพต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ซึ่งการพิจารณากำหนดค่าเลี้ยงชีพของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ต้องคำนึงถึงสถานภาพและความเหมาะสมแก่ฐานานุรูปของลูกหนี้ ที่สำคัญต้องให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ที่ต้องได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่รวบรวมดังกล่าวด้วย

ทั้งในการรวบรวมทรัพย์สินตามกรณีดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องพิจารณาด้วยว่ามีทรัพย์สินที่รวบรวมได้มากพอที่จะแบ่งได้หรือไม่ เพื่อทำบัญชีแบ่งให้บรรดาเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายต่อไป

ลงประกาศฟรี !!! ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย คลิ๊ก …

ขายคอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน กับ Dot Property ขายง่าย ขายไว หรือต้องการซื้อ-เช่า !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่