การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ด่านแรกในการเจรจา

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท-1

จากที่เราเคยได้ทำความรู้จักกันไปแล้วกับที่มาและอำนาจหน้าที่หน่วยงานในกรมบังคับคดี วันนี้เราก็จะมาขอพูดกันต่อกับ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ด่านแรกก่อนจะไปว่ากันที่ชั้นบังคับคดี มีความเป็นมา มีประโยชนย์อย่างไร

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท-2ประวัติความเป็นมาของ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

นับตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2540  เป็นต้นมา มีปริมาณคดีที่เข้ามาสู่การบังคับคดีเป็นจำนวนมาก มีผลทำให้มีคดีค้างดำเนินการที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีสูงถึงกว่าสี่แสนคดี ซึ่งการบังคับคดีตามบทบัญญัติของกฎหมาย ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติทั้งต่อคู่ความ บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งปัญหาต่างๆอาจแยกได้เป็น

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท-3

  1. ปัญหาเรื่องการสืบทรัพย์และจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อประสงค์จะทำการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ตน มีหน้าที่ต้องทำการสืบหาทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งสร้างความยากลำบากในการตรวจสอบและจัดหาเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนเป็นอันมาก
  1. การบังคับคดีมีขั้นตอนการดำเนินการมากมาย ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ไม่นับรวมระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ต้องรอเมื่อครบระยะเวลาตามที่กำหนดก่อนจึงจะดำเนินการต่อไปได้ อีกทั้งไม่นับรวมกรณีที่มีผู้มีส่วนได้เสียร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ซึ่งต้องรอจนกว่าศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุดก่อน จึงจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ ซึ่งขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้การบังคับคดีล่าช้าและใช้เวลานานมาก จนบางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ
  1. ค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี ซึ่งเงินดังกล่าวแม้จะเป็นเงินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทดรองจ่ายไปก่อนก็ตาม แต่จะได้คืนก็ต่อเมื่อขายทรัพย์ที่ยึดได้ หากเงินค่าใช้จ่ายที่วางไว้ไม่เพียงพอ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องวางเพิ่มเรื่อยไปจนกว่าจะขายทรัพย์ได้ บางคดีต้องทดรองเงินค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย แต่กลับไม่ได้รับผลการชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาที่คาดว่าจะได้แต่อย่างใด
  2. ปัญหาเรื่องคำพิพากษาไม่เปิดช่องให้บังคับคดีได้ เนื่องจากการบังคับคดีเป็นการดำเนินการตามหมายบังคับคดี ซึ่งออกสืบเนื่องจากคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และศาลต้องกำหนดการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้ทำได้เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ มักปรากฏว่าคำพิพากษาของศาลนั้น ไม่เปิดช่องให้ทำการบังคับคดีได้
  1. ปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและประโยชน์ของประเทศชาติ ในคดีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ ทำให้ผู้ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์ไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ เป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นสิ้นสุดคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจไปชั่วคราว นอกจากนี้ตัวบุคคลผู้ถูกยึดทรัพย์อาจถูกมองว่าเป็นผู้ไม่มีเครดิตน่าเชื่อถือ หรือมีฐานะไม่มั่นคงจนไม่อาจดำเนินธุรกิจอย่างใดได้ อันเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความยากลำบากและอันตรายที่เกิดขึ้นในการออกไปดำเนินการบังคับคดี หรือทรัพย์สินที่พิพาทเสื่อมค่าเสื่อมราคา รวมทั้งปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นจำนวนมากสาเหตุเนื่องมาจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ประกอบกับมีคดีค้างดำเนินการเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับการบริการที่ดีเพียงพอจากหน่วยงานรัฐ แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ปรับปรุงระบบงานธุรการ ลดขั้นตอนการทำงาน เร่งรัดการบังคับคดีในรูปแบบต่างๆ จัดมหกรรมขายทอดตลาด นำเทคโนโลยีมาช่วย รวมถึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาคดีที่มากมายและความล่าช้าในการดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ

จากปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย  จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาการระงับหรือยุติการบังคับคดีทางเลือกขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวกและเป็นธรรม โดยนำเอาขั้นตอนและวิธีดำเนินการของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามแบบที่มีอยู่มาปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะของ การบังคับคดี และอาศัยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546  เป็นแนวทางในการดำเนินการ

เดิมศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี ตั้งอยู่ในสำนักงานวางทรัพย์กลาง โดยจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2548 เป็นต้นมา  และต่อมามีคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 220/2550  ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2550  ให้จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่กองยึดทรัพย์สิน มีหน้าที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งก่อนการบังคับคดีและหลังจากที่มีการบังคับคดีแล้ว ปัจจุบันศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ได้ตัดโอนงานและอัตรากำลังออกจากกองยึดทรัพย์สิน และจัดตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงโดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

กรมบังคับคดี  มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วทั้งก่อนและระหว่างการบังคับคดี  ติดตามและประเมินผลการไกล่เกลี่ยจัดเก็บสถิติ จัดอบรมผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดอบรมเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีให้แก่ประชาชน ตลอดจนปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ประโยชน์ของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท-4

  • รวดเร็วและไม่ยุ่งยาก
  • ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
  • คู่กรณีสามารถตกลงกันได้ ทำให้การบังคับคดีเสร็จสิ้นไป
  • คู่กรณีสามารถหาข้อยุติได้ด้วยตนเอง และมีการนอมรับปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ทำให้ไม่ต้องการบังคับคดีตามมา
  • ข้อยุตินั้นเหมาะสมกับคู่กรณี เนื่องจากคู่กรณีสามารถเลือกที่จะทำข้อตกลงอย่างไรก็ได้ ที่ไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย
  • การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะเป็นความลับเนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องรักษาความลับ ไม่เปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
  • ข้อตกลงระหว่างคู่กรณสามารถบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจบอกเลิกหรือปฏิบัตืให้เป็นอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
  • รักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ หรือก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในระยะยาว
  • มีความยืดหยุ่น เนื่องจากคู่กรณีสามารถเลือกใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งหมดหรือในประเด็นใดประเด็นหนึ่งในคดีก็ได้ ส่วนที่เหลืออาจะให้มีการดำเนินการบังคับคดีต่อไป
  • มีคุณภาพ เนื่องจากบุคคลที่ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มักเป็นบุคคลที่มีความสามารถ หรือเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น
  • คู่กรณียังคงมีสิทธิในการบังคับคดี หากคู่กรณีมีความต้องการจะดำเนินการบังคับคดีต่อไป

ลงประกาศฟรี !!! ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย คลิ๊ก …

ขายคอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน กับ Dot Property ขายง่าย ขายไว หรือต้องการซื้อ-เช่า !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่